กองทุนสวัสดิการเทศบาลตำบลบ้านส้องใช้ทฤษฎี ‘ขากิ้งกือ’
สุวัฒน์ ดาวเรือง ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้อง อ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี บอกว่า กองทุนฯ จัดตั้งขึ้นในปี 2554 มีวิสัยทัศน์ คือ “กองทุนสวัสดิการชุมชนเทศบาลตำบลบ้านส้องเป็นองค์กรกลางในการเชื่อมโยงประสานสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตในชุมชน” ปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 5,000 คน มีเงินกองทุนประมาณ 5 ล้านบาทเศษ
คณะกรรมการกองทุนสวัสดิการชุมชนฯ ยึดหลักการทำงาน ‘ซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ ใช้เทคนิคการประสานสิบทิศ และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน’ ทำให้กองทุนฯ เติบโตทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ โดยใช้ ‘ทฤษฎีขากิ้งกือ’ เป็นแนวทาง เพราะกิ้งกือมีหลายขา เดินไปพร้อมๆ กัน ทำให้เกิดพลังและถึงจุดหมายได้เร็ว
ประธานกองทุนฯ อธิบายการทำงานว่า ‘ขาที่ 1’ คือ สมาชิกกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่มีความหลากหลาย เริ่มจากกลุ่มอาสาสมัครยาเสพติด กลุ่มแกนนำ กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มพัฒนาสตรี กลุ่มเยาวชน โดยสมาชิกสมทบเงินเข้ากองทุนเป็นรายเดือน ราย 6 เดือน หรือรายปี รวมแล้วคนละ 365 บาทต่อปี เพื่อนำเงินกองทุนฯ มาช่วยเหลือสมาชิก เมื่อผลการดำเนินงานการจัดสวัสดิการเกิดประโยชน์แก่สมาชิกจริง จึงเกิดเป็น ‘ขาที่ 2’ คือ ท้องถิ่น เข้าร่วมส่งเสริมกองทุน โดยเทศบาลตำบลบ้านส้องสมทบงบประมาณเข้ากองทุนทุกปี
‘ขาที่ 3’ คือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) ที่ร่วมสนับสนุนทั้งงบประมาณและเสริมสร้างความเข้มแข็ง ‘ขาที่ 4’ คือ ห้างร้าน บริษัท และภาคเอกชนในท้องถิ่น ร่วมบริจาคเงินสมทบเข้ากองทุน และ ‘ขาที่ 5’ การจัดงานระดมทุน (ปี 2563 เริ่มการจัดงานวิ่ง-เดินเพื่อสุขภาพ เพื่อระดมเงินเข้ากองทุน และมีการบริจาคเงินสมทบ ทำให้มีเงินเข้ากองทุนกว่า 1 ล้านบาท)
ประธานกองทุนฯ อธิบายต่อไปว่า การใช้ทฤษฎีขากิ้งกือยังหมายถึงการเชื่อมโยงหน่วยงานภาคีต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกมาหนุนเสริมการทำงานของกองทุนสวัสดิการชุมชน เช่น กองทุนฯ เป็นแกนหลักในการจัดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ โดยร่วมกับวิทยาลัยนานาชาติการท่องเที่ยว มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานีจัดการท่องเที่ยวชุมชน รายได้ส่วนหนึ่งสมทบเข้ากองทุนสวัสดิการฯ, การส่งเสริมอาชีพ พัฒนาผลิตภัณฑ์-สินค้าชุมชน ฯลฯ
“ช่วงโควิดที่ผ่านมา กองทุนไม่ได้จัดงานระดมทุน แต่ยังมีบริษัทห้างร้าน ภาคเอกชน และประชาชนทั่วไปสนับสนุนกองทุน โดยการบริจาคเงินเข้ากองทุนอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้มียอดเงินแล้วประมาณ 1 ล้านบาทเศษ และเทศบาลบ้านส้องสมทบเงินเข้ากองทุนในปี 2565 อีก 1 ล้าน 5 แสนบาท” ประธานฯ กองทุนบอก
ประธานกองทุนฯ บอกด้วยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 กองทุนได้ช่วยเหลือสมาชิกและประชาชนที่เดือดร้อนทั่วไป โดยนำข้าวสารอาหารแห้งไปแจกจ่ายแก่ผู้ได้รับผลกระทบ ว่างงาน หรือมีรายได้ลดลง นอกจากนี้ยังนำสมาชิกกองทุนและคณะกรรมการร่วมตรวจคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงโควิด เช่น วัดไข้ ทำหน้ากากผ้าอนามัยแจกจ่ายประชาชน ฯลฯ
“ส่วนสมาชิกที่ติดเชื้อโควิดนั้น แต่เดิมเรามีกฎระเบียบช่วยเหลือคนที่เจ็บป่วยต้องนอนโรงพยาบาลรายละ 3 พันบาท แต่สถานการณ์โควิดช่วงนี้ เมื่อตรวจพบเชื้อโควิด หมอจะให้กลับไปรักษาตัวที่บ้าน ไม่ให้นอนโรงพยาบาลเพราะเตียงไม่พอ จะรองรับเฉพาะคนป่วยหนัก กองทุนจึงต้องปรับระเบียบ คือหากใครติดเชื้อโควิด หมอให้กลับมารักษาตัวที่บ้าน กองทุนจะให้เงินช่วยเหลือรายละ 1,500 บาท เพราะคนที่ติดเชื้อจะต้องหยุดงาน ขาดรายได้ กองทุนจึงต้องปรับระเบียบเพื่อช่วยเหลือสมาชิกในช่วงโควิดด้วย”